วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ เกิดมาเพื่อลุย

เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ เกิดมาเพื่อลุย

หลังจากเปิดตัว เชฟโรเลต โคโลราโด ปิกอัพสายพันธุ์แกร่งเอาใจแฟนๆ เชฟโรเลตได้สัมผัสกันไปแล้ว ล่าสุด เชฟโรเลตต่อยอดสายการผลิต พัฒนาไปอีกขั้นด้วยการเปิดตัวรถอเนกประสงค์ "เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์" (Chevrolet TrailBlazer) รถปิกอัพดัดแปลงหรือพีพีวี ไปเมื่อประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากเรียกน้ำย่อย ให้แฟนๆ รถอเนกประสงค์เฝ้าคอยข่าวสารความเคลื่อนไหวอยู่นาน 

"เทรลเบลเซอร์" เป็นรถขนาด 7 ที่นั่ง มีจุดขายหลักคือ เน้นให้ผู้บริโภคได้รับทั้งความสะดวกสบาย ความหรูหรา และสมรรถนะแบบไปไหนไปกันแบบลุยๆ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 2800 ซีซี กำลังสูงสุด 180 แรงม้า ระบบขับเคลื่อนก็มีให้เลือกทั้งแบบล้อหลัง และ 4 ล้อ

เครื่องยนต์บล็อกนี้ให้การตอบสนองได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะการขับขี่แบบใช้งานหนัก เพราะจากพละกำลัง 180 แรงม้า แรงบิด 470 นิวตัน-เมตร เมื่อใช้งานควบคู่กับระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ให้อัตราเร่งแซงอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับการขับเคลื่อนรถอเนกประสงค์ขนาด 7 ที่นั่ง ที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 1.8 ตัน ระบบถ่ายทอดกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด มาพร้อมกับระบบ DSC (Driver Shift Control) ช่วยให้ปรับเปลี่ยนเกียร์ได้เองแบบเกียร์ธรรมดา สำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น แรงบิดจากเครื่องยนต์จะถูกส่งผ่านไปยังล้อหน้าผ่านทางตัวแบ่งกำลังระบบไฟฟ้า 



ระบบเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ สามารถทำงานได้ในโหมด ทู ไฮ (2-High) หรือขับเคลื่อนล้อหลังเท่านั้น หรือ โฟร์ ไฮ (4-High) โฟร์-โลว์ (4-Low) สามารถเลือกได้ด้วยสวิตช์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ติดตั้งอยู่ใต้คันเกียร์ บริเวณคอนโซลกลาง 

รูปลักษณ์ภายนอก ได้รับการออกแบบโดยทีมงานจีเอ็มในบราซิล ใช้แนวคิด บอดี้-อิน วีล-เอาต์ (Body-in Wheel-out) ในการดึงโป่งซุ้มล้อ ให้เหมาสมกับการใช้งานแบบสมบุกสมบันพร้อมใช้หลอดไฟ LED สำหรับชุดไฟหน้า ไฟท้าย และไฟเลี้ยวที่ฝังอยู่ในกรอบกระจกมองข้าง รวมถึงการสวมล้อที่มีความใหญ่ถึง 20 นิ้วในรุ่นตกแต่ง LTZ 

นอกจากนี้ กระจังหน้ารถ มีการเปลี่ยนใหม่ เช่น ตกแต่งเสริมแบบอะลูมิเนียมทั่วทั้งคัน ทั้งด้านหน้า ด้านข้างตัวรถ กระโปรงท้าย และราวหลังคา

ด้านภายในห้องโดยสารตอบโจทย์ในเรื่องของความสะดวกสบาย เพราะแบ่งเบาะออกเป็น 3 แถว 7 ที่นั่ง สามารถเลือกพับเก็บในแถวที่สองและสามได้ตามแต่การใช้งาน และติดตั้งเพิ่มเติมเข้ามาก็มีทั้งช่องเสียบ USB และบลูทูธ (Bluetooth) สำหรับเชื่อมต่อกับเครื่องมือสื่อสารต่างๆ รวมถึงระบบปรับอากาศแบบดูอัล โซน (Dual Zone) ควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีเบาะที่นั่งเป็นหนังสีอ่อน ใช้วัสดุลายไม้สีเข้ม ควบคู่กับโครเมียม เสริมให้ภายในดูหรูหรา และมีช่องเก็บของมากสำหรับผู้โดยสารในทุกที่นั่ง

อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในเทรลเบลเซอร์ ค่อนข้างมาครบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก ABS ระบบกระจายแรงเบรกอิเล็กทรอนิกส์ EBD ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและป้องกันการลื่นไถล TCS ระบบช่วยเบรกไฮดรอลิกส์ HBA รวมทั้งระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESC ทำงานร่วมกับระบบ TCS ระบบนี้จะสั่งงานให้รถป้องกันการสูญเสียการควบคุมทุกรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสภาวะการขับขี่ อาจจะสั่งงานให้ระบบเบรกทำงานหนึ่งล้อ สองล้อ หรือสามล้อพร้อมกันได้ มีระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ เมื่อลงทางลาดชัน HDC และระบบควบคุมป้องกันการไหลของรถเมื่อขึ้นทางลาดชัน 

เทรลเบลเซอร์ มาพร้อมกับสีสันตัวถัง 7 สี คือสีขาว ซัมมิท ไวท์ (Summit White) สีดำ แบล็ก แซฟไฟร์ (Black Sapphire) สีแดง ซิซเซิล เรด (Sizzle Red) สีน้ำตาล เออเบิร์น บราวน์ ( Auburn Brown) สีน้ำเงิน บลูเมาเท่น (Blue Mountain) สีเทา รอยัล เกรย์ (Royal Gray) และสีเงิน สวิตช์เบลด ซิลเวอร์ (Switchblade Silver) 

เชฟโรเลตใช้ไทยเป็นฐานหลักในการผลิตเทรลเบลเซอร์เพื่อส่งขายไปทั่วโลก 

สำหรับราคาเทรลเบลเซอร์เริ่มต้น รุ่น 2.5 LT 2WD M/T ที่ 1,059,000 บาท รุ่น 2.8 LT 2WD 1,249,000 บาท รุ่น 2.8 LT 4WD 1,299,000 บาท และรุ่น 2.8 LTZ 4WD 1,389,000 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น